สำหรับนักลงทุนอสังหาฯ นั้น การขายฝากก็เป็นเหมือนกันช่องทางในการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะเปิดโอกาสให้เราสามารถเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้ง่าย ๆ แล้ว เรายังสามารถได้รับดอกเบี้ยเพิ่มจากการไถ่คืนจากผู้ขายด้วย และในบทความนี้ Brickpaths ก็จะมาแนะนำในเรื่องของ “ดอกเบี้ยขายฝาก” กัน เพราะบางคนอาจจะยังสงสัย ว่าดอกเบี้ยขายฝากนั้น จะต่างจากดอกเบี้ยเงินกู้ยังไง แล้วต้องคิดดอกเบี้ยขายฝากเท่าไหร่ ถึงจะพอดี ถ้าอยากรู้แล้ว เราไปดูพร้อม ๆ กันเลย
ในการขายฝากนั้น หลังจากที่มีการตกลงสัญญาซื้อขายกันเรียบร้อย และในเวลาที่ตกลงนั้น หากผู้ขายฝากมีความประสงค์ที่จะซื้อทรัพย์สินคืน หรือไถ่ถอนคืน จะต้องเตรียมเงินที่เรียกว่า “ค่าสินไถ่” ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือราคาเงินต้น ที่อาจจะเท่าเดิม หรือกำหนดให้สูงกว่าด้วยการเพิ่มดอกเบี้ยเข้าไปก็ได้ ซึ่งในส่วนนี้ก็คือ “ดอกเบี้ยขายฝาก” นั่นเอง
ในส่วนของการแบ่งจ่าย ผ่อนชำระเป็นงวด ๆ นั้น สำหรับการขายฝากนั้น สามารถผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยได้ แต่จะต้องมีการระบุในสัญญาอย่างชัดเจน และจะเลือกผ่อนชำระจากเงินต้นไม่ได้ เพราะอาจตีความได้ว่าเป็นการทำนิติกรรมอำพรางกู้ยืม ไม่ใช่การซื้อขายแบบที่ขายฝากควรจะเป็น ดังนั้น หากผ่อนชำระดอกเบี้ยแล้ว เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนด ผู้ขายฝากก็จะต้องชำระเงินต้นเป็นเงินก้อนสุดท้ายอยู่ดี
การจะคิดดอกเบี้ยขายฝากเท่าไหร่ คิดยังไงนั้น จะต้องเริ่มตั้งแต่การคิดวงเงินขายฝาก ซึ่งส่วนใหญ่จะให้สูงสุดที่ 70% จากราคาประเมินเป็นเงินต้นของการขายฝาก เมื่อผู้ซื้อฝากต้องการคิดดอกเบี้ยเพิ่มในค่าสินไถ่ จะต้องคิดเพิ่มได้สูงสุดที่ 15% ต่อปี หรือแบ่งเป็นรายเดือนที่ 1.25% ต่อเดือนโดยร่วมกับระยะเวลาในสัญญา
หากมีการไถ่ถอนทรัพย์สินก่อนกำหนดนั้น ข้อดีส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่ผู้ขายฝาก ที่ได้ทั้งทรัพย์สินกลับคืนมา และจ่ายดอกเบี้ยน้อยลงตามอัตราส่วนระยะเวลา ณ ตอนนั้น แต่ฝั่งผู้ซื้อฝาก ก็อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย ดังนั้นตามกฎหมายจึงมีการระบุเอาไว้ว่า หากมีการไถ่คืนทรัพย์สินล่วงหน้าก่อนกำหนด ผู้ขายฝากจะต้องจ่ายค่าเสียโอกาสให้กับผู้ซื้อฝากเพิ่มอีกเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 2% จากวงเงินต้น เพราะฉะนั้น ผู้ซื้อและผู้ขายทั้งสองฝั่งก็ควรที่จะตกลงเวลาให้เหมาะสมกับทั้งสองฝั่งตั้งแต่แรก แต่ถ้ามีการไถ่คืนล่วงหน้า เราก็ได้รู้แล้วว่าต้องคิดดอกเบี้ยขายฝากเท่าไหร่
ยกเว้นแต่ว่า ผู้ขายฝากจะมีการวางทรัพย์ ณ สำนักงานวางทรัพย์ เพื่อชำระไถ่ถอนทรัพย์สินคืนแทน หากเป็นกรณีนี้ ผู้ขายฝากก็ยังต้องชำระค่าสินไถ่เป็นจำนวนเงินเต็มตามที่ระบุในสัญญาขายฝากเท่านั้น ถึงจะวางทรัพย์ไถ่ถอนก่อนกำหนด ก็ไม่สามารถลดหย่อนดอกเบี้ยตามระยะเวลาแบบกรณีด้านบนได้
แต่ถ้ามีการชำระดอกเบี้ยไปจำนวนหนึ่งแล้ว ผู้ขายฝากกลับไม่สามารถไถ่คืนได้ตามกำหนดจริงๆ หากไม่ได้มีการขยายระยะเวลาหรือต่อรองเพิ่มเติมกับผู้ซื้อฝากแล้วละก็ จะถือว่าทรัพย์สินนั้น ๆ หลุดขายฝาก และตกเป็นของผู้ซื้อฝากทันที ส่วนดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วนั้น ก็จะตกเป็นของผู้ซื้อฝากด้วยเช่นกัน
และทั้งหมดนี้ ก็คือวิธีคิดดอกเบี้ยขายฝากเท่าไหร่ คิดยังไง อย่างที่เห็นเลยว่าไม่ได้ยากอย่างที่คิด แถมยังได้รู้อีกว่า ในสถานการณ์พิเศษอย่างการไถ่คืนล่วงหน้า จะต้องคิดดอกเบี้ยเพิ่มเติมยังไง สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะเป็นการขายฝาก จำนอง หรือการซื้อขาย ทุกการลงทุนต่าง ๆ นั้นมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลในการลงทุนให้ดีทุกครั้งก่อนเริ่มด้วย ส่วนบทความต่อไป จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง รอติดตามกันได้เลย
422/33 ซอย อ่อนนุช 17 แยก 16
แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง
กรุงเทพมหานคร 10250